คณิตศาสตร์

สอนคณิตศาสตร์อย่างไรให้ประสบผลสำเร็จ

คณิตศาสตร์ เป็น ศาสตร์แห่งการคิดคำนวณบนเส้นทางอันงดงามของกระบวนการคิดเชิงนามธรรมแห่งตรรกะที่ประณีต ลึกซึ้ง และสมเหตุสมผล เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ศาสตร์สาขาอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์ ถึงกับมีคำกล่าวว่า

"คณิตศาสตร์เป็นราชินีของวิทยาศาสตร์(Mathematics is a Queen of Sciences)"

ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นความสำคัญดังกล่าวนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ไอน์สไตน์นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ หนึ่งในยอดอัจฉริยะผู้ได้รับรางวัลโนเบลไพรม์ที่ข้างกายมักมี สเตราส์ นักคณิตศาสตร์ผู้รู้ใจอยู่ร่วมด้วยเสมอ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ที่โด่งดัง โดดเด่นที่ชี้ให้เห็นถึงการแปรเปลี่ยนระหว่างมวลสารกับพลังงาน สื่อความหมายให้เข้าใจได้อย่างชัดเจนกระชับรัดกุม ด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ง่าย ๆ ในรูป E = MC^2 แสดงให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้คณิตศาสตร์เพื่อการสื่อสารความเชิงนามธรรมนำมาใช้อธิบายข้อค้นพบซึ่งเป็นความจริงเชิงกายภาพของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ซับซ้อนอย่าหลีกเลี่ยงมิได้ โลกยุคไอที (Information Technology) ในปัจจุบันอันเป็นสังคมฐานความรู้(Knowledge Base) โดยมีคอมพิวเตอร์เป็นปัจจัยสำคัญอันทรงพลังสนับสนุนในการค้นหา รวบรวม ประมวลผลและสื่อสารข้อมูลที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการตัดสินใจเป็นไปอย่างไร้ข้อจำกัด ทำให้มีการเคลื่อนไหล(flow) ถ่ายเทและเปลี่ยนผ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็วฉับพลันทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ การนำข้อมูลเชิงตัวเลขมาใช้บริหารจัดการองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนเป็นไปอย่างกว้างขวางในหลายมิติ จึงจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์ สถิติ อย่างเพี่ยงพอเท่านั้นจึงจะสามารถ วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และก่อประสืทธิผลสูงสุดแก่องค์กร

ด้วยความสำคัญดังกล่าวนี้การพัฒนาคนทางด้านคณิตศาสตร์จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างเร่งด่วน แต่มีข้อสังเกตที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในภาพรวมของผู้เรียนในประเทศไทยเรากลับตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ และต่ำกว่าในรายวิชาอื่น ๆ ในทุกระดับ

หลักธรรมในพุทธศาสนาที่ว่าด้วย บาทฐานแห่งฤทธิ์และพลังอำนาจที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จแก่บุคคลในการกระทำกิจการงานใด ๆ ให้ลุล่วงสำเร็จตามที่ประสงค์จำนงหมายที่ดั้งไว้ คือหลักธรรมแห่ง "อิทธิบาท 4" ซึ่งประกอบด้วย

1. ฉันทะ คือ ความรักในงานที่ทำ

2. วิริยะ คือ ความขยันหมั่นเพียร : กำลังกาย

3. จิตตะ คือ ความใส่ใจ : กำลังจิต (สมาธิ)

4. วิมังสา คือ ความไตร่ตรอง : กำลังปัญญา

"ฉันทะ" ซึ่งเป็นความรักที่แท้จริงและบริสุทธิ์ใจในสิ่งที่ทำนั้นเป็นปัจจัยนำสำคัญที่สุดอันจะผลักดันให้กระทำพฤติกรรมในข้ออื่น ๆ ที่เหลืออย่างประสานกลมกลืนกัน " ครูคณิตศาสตร์ที่รัก และศรัทธาในความเป็นครูคณิตศาสตร์เท่านั้นจึงจะสร้างความรักและศรัทธาให้เกิดแก่ผู้เรียนคณิตศาสตร์ได้ "

ในกระบวนการเรียนคณิตศาสตร์หรือวิชาอื่น ๆ นั้นผู้เรียนจะเก่งได้ก็ต้องใช้หลัก สุ จิ ปุ ลิ หรือ ฟัง คิด ถาม เขียน อันเป็นหลักทั่วไปในการเรียนให้เก่ง ที่เรียกกันว่า "หัวใจนักปราชญ์" มาประกอบด้วย จะทำให้เกิดความเข้าใจ รู้แจ้งและรู้จริงในสิ่งที่เรียน สิ่งนี้ทุกท่านรู้กันอยู่แล้วเพราะต่างก็เคยท่องกันมาในสมัยเรียนหนังสือ แต่หลักการอะไรก็ตามจะดีวิเศษเพียงใดเมื่อไม่นำมาปฏิบัติย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตตนเองได้

คณิตศาสตร์จะบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนการสอนหรือไม่นั้นผู้ที่มีบทบาทอย่างยิ่งก็คือครู ถ้าผลการเรียนของนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ดี ผู้ต้องสงสัยคือครู นักเรียนชอบหรือไม่ชอบคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่เหตุปัจจัยมาจากครู ครูเป็นตัวแปรที่จะทำให้นักเรียนชอบหรือไม่ชอบคณิตศาสตร์